สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธี และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ประจำปีการศึกษา 2564


วันนี้ (15 พฤศจิกายน 2565) - สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธี ประจำปี 2564 จำนวน 30 คน โดยแบ่งเป็นระดับปริญญาเอก จำนวน 26 ราย และระดับปริญญาโท จำนวน 4 ราย และพระราชทานทุนการศึกษา “ศรีเมธี” ให้กับนิสิตที่มีผลการเรียนดีเยี่ยมจากสถาบันฯ จำนวน 4 ราย รวมทั้งพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้แทนนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ที่สำเร็จการศึกษา รุ่นที่ 5 จำนวน 2 ราย โดยมี นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. พร้อมกับคณะผู้บริหารและพนักงาน กลุ่ม ปตท. เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง
.
ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทอดพระเนตรผลงานทางวิชาการและงานวิจัยของสถาบันวิทยสิริเมธี ที่สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจในปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ งานวิจัยทางด้านระบบปัญญาและหุ่นยนต์ (Al and Robotic) งานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน การพัฒนาแบตเตอรี่และวัสดุคุณภาพภาพสูง (Energy Materials & Environment) และงานวิจัยพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และการเพิ่มมูลค่าขยะอินทรีย์ อนึ่ง สถาบันวิทยสิริเมธี ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทในกลุ่ม ปตท. เพื่อร่วมกันสร้างนักวิจัย พัฒนางานวิจัยที่มีศักยภาพไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และสร้างคุณค่าให้แก่สังคม อันเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของสถาบันฯ
.
ต่อมาทรงเป็นประธานในการลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สถาบันวิทยสิริเมธี และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจากการดำเนินโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV และห้องปฏิบัติการ ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) พื้นที่ประมาณ 88 ไร่
.
เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ให้เป็นเครื่องมือที่มีพลานุภาพ เป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ที่สามารถสร้างคุณประโยชน์มากมายมหาศาลต่องานวิจัยทางด้านการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรม และด้านอื่น ๆ โดยเครื่องกำเนิดแสงที่จะจัดสร้างนี้ มีค่าระดับพลังงาน 3 GeV และใช้เทคโนโลยี Double Triple Bend Achromat (DTBA) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้แสงซินโครตรอนมีความสว่างจ้ามากกว่าเดิม 1 ล้านเท่า และรองรับระบบลำเลียงแสงได้สูงถึง 22 ระบบ จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ด้านงานวิจัยได้หลากหลาย
.
จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารปฏิบัติการวิศวกรรม (Fabrication Center) ซึ่งเป็นห้องทดลองสำหรับนักเรียนในการสืบค้นข้อมูลและพัฒนาต้นแบบสิ่งประดิษฐ์ตามแนวคิดของตนเอง พร้อมทรงติดตามความก้าวหน้าและความยั่นยืนของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ โดยมี
.
รองศาสตราจารย์ ดร.บุญโชติ เผ่าสวัสดิ์ยรรยง ผู้อำนวยการโรงเรียนกำเนิดวิทย์ กราบบังคมทูลรายงาน ต่อมาเสด็จพระราชดำเนินไปยัง “ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา” ซึ่งเป็นแหล่งการเรียนรู้สำคัญในการพัฒนาภาพลักษณ์ของเกษตรกรไทยยุคใหม่ ให้เป็นอาชีพที่น่าภาคภูมิใจและยั่งยืน โดย นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. และ นายเทอดเกียรติ พร้อมมูล ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือและแพลตฟอร์ม “สวนสมรม” ที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบการเกษตร
.
ต่อมาทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนลานใจบ้าน สถาบันวิทยสิริเมธี โดยมีนายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและพนักงาน เฝ้าฯ รับเสด็จ และนำเสนอนิทรรศการโครงการด้านนวัตกรรมและสิ่งแวดล้อม ผลงานของ ปตท.สผ. ร่วมกับพันธมิตร ที่จะช่วยสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 ของ ปตท.สผ. นอกจากนี้ยังจัดแสดงเกี่ยวกับเทคโนโลยี Smart Forest Solution ซึ่งเป็นผลงานของ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส หรือ เออาร์วี ซึ่งเป็นบริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ในเครือ ปตท.สผ. โดยเป็นเทคโนโลยีเพื่อการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โครงการด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืนของ ปตท.สผ. ภายใต้แนวคิด “ทะเลเพื่อชีวิต” (Ocean for Life) เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้กับระบบนิเวศใต้ทะเล
.
จากนั้น ทอดพระเนตรการแสดงโดรนแปรอักษรประกอบ แสง สี เสียง ซึ่งกลุ่ม ปตท. โดย ปตท.สผ. และบริษัท เออาร์วี จัดแสดงขึ้นด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยใช้โดรนจำนวนกว่า 700 ลำ ทำการแสดงรวม 9 ภาพ ในรูปแบบ 3 มิติ ผสานม่านน้ำมัลติมีเดีย ในชื่อชุด “ความยั่งยืนจากท้องทะเลสู่ท้องฟ้า เหล่าประชาร่วมเทิดพระเกียรติ” โดยนำเสนอความมุ่งมั่นของ ปตท.สผ. ในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เชื่อมโยงสู่การใช้เทคโนโลยีโดรนและปัญญาประดิษฐ์เพื่อดูแลความสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่ง รวมถึงเพื่อพัฒนาภาคการเกษตรของไทย และพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี