ประชาสัมพันธ์


ประชาสัมพันธ์
************************************
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตน้ำมัน แล้วไม่พอต่อการใช้งานของคนในประเทศ !!!
.
.
ราคาน้ำมันที่มีการผันผวนตลอดเวลา ไม่ว่าจะเนื่องด้วย เหตุผลใดก็ตาม ย่อมส่งผลต่อความไม่พอใจของประชาชนมาตลอด และเมื่อไม่พึงพอใจ ก็จะเกิดการเปรียบเทียบ
ในวิกฤติราคาน้ำมันทุกๆครั้ง ดังที่จะเห็นจนคุ้นตา คือการที่มักมีบางกลุ่ม เปรียบเทียบราคาพลังงานไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะมาเลเซีย
.
เมื่อไม่นานมานี้ ก็มีกรณีผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ที่ลงทุนเดินทางไปถึงมาเลเซียเพื่อเติมน้ำมันที่นั่น ก่อนจะเปรียบเทียบราคาน้ำมันของไทยกับมาเลเซียลงสื่อโซเชียล ส่งผลให้รัฐบาลมาเลเซียสั่งการให้มีการตรวจสอบผู้มาขอรับบริการว่าเป็นพลเมืองมาเลเซียหรือไม่ เนื่องจากราคาน้ำมันของมาเลเซีย ได้รับการชดเชยราคาโดยตรงด้วยภาษีของคนมาเลเซีย
.
แต่หากมองย้อนกลับไปที่ประเทศลาว จะเห็นว่าประเทศลาวนั้น มีราคาน้ำมันที่สูงกว่าไทยตลอด เนื่องจากว่าลาวนั้น ไม่มีแหล่งเชื้อเพลิงของตนเอง ราคาน้ำมันในลาว จึงเป็นราคาที่เพิ่มค่าใช้จ่ายในการขนส่งจากประเทศไทยเข้าไปร่วมด้วย เป็นสาเหตุให้มีราคาที่สูงกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง
.
นั่นทำให้คนลาวบางส่วน เข้ามาเติมน้ำมันในประเทศไทย และประเทศไทยก็สั่งห้ามเช่นเดียวกับมาเลเซีย
.
.
หันกลับมาพิจารณาถึงที่มาของราคาน้ำมัน ประเทศที่มีความสามารถในการขุดเจาะน้ำมันได้เอง และกลั่นน้ำมันได้เอง จะมีราคาน้ำมันสำหรับการใช้ในประเทศที่มีราคาถูกลงมากกว่าประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานทั้งหมด
.
แต่จะถูกมากน้อยเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับว่า ประเทศนั้น ๆ มีปริมาณน้ำมันสำรอง และกำลังการผลิตมากเพียงพอที่จะตอบสนองของคนทั้งประเทศหรือไม่
.
จากข้อมูลของ Worldometer ระบุว่า ใน พ.ศ. 2559 มาเลเซียมีปริมาณน้ำมันสำรอง 3,600,000,000 บาร์เรล มากเป็นอันดับที่ 28 ของโลก ในขณะที่ประเทศไทยมีเพียง 404,890,000 บาร์เรล อยู่อันดับที่ 50 อีกทั้งมีปริมาณน้อยกว่ามาเลเซียถึง 8.9 เท่า
.
นอกจากนี้ กำลังการผลิตของมาเลเซียนั้น เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ สำหรับประชากรเพียงแค่ 32 ล้านคน มีน้ำมันเหลือใช้มากถึงวันละ 54,168 บาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ไทย ทั้ง ๆ ที่ผลิตได้น้อยกว่า แต่กลับมีอัตราการบริโภคที่สูงกว่า จนทำให้กำลังการผลิตต่อวัน น้อยกว่าอัตราการบริโภคมากถึง 770,671 บาร์เรลต่อวันเลยทีเดียว
.
.
.
แต่ถึงแม้มาเลเซียจะมีกำลังการผลิตน้ำมันที่ล้นเหลือ แต่มาเลเซียก็ยังมีการนำเข้าน้ำมันมากถึง 197,489 บาร์เรลต่อวัน และส่งออกน้ำมัน 390,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ราคาน้ำมันในมาเลเซียเองก็ผันผวนตามราคาน้ำมันของโลกด้วยเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ส่งผลกระทบมากเท่ากับประเทศไทยนั่นเอง
.
จากรายงานของ Worldometer ระบุว่า มาเลเซียมีน้ำมันสำรอง 0.2% เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำมันสำรองของโลก (1,650,585,140,000 บาร์เรล อ้างอิงข้อมูล พ.ศ. 2559) ในขณะที่ประเทศไทย มีปริมาณน้ำมันสำรองเพียง 0.02345% เพียงเท่านั้น
.
การที่จะนำประเทศไทยไปเปรียบเทียบกับมาเลเซีย ในเรื่องราคาน้ำมัน และความพยายามที่จะผลักดันให้ประเทศไทย ดำเนินนโยบายราคาน้ำมันแบบมาเลเซียนั้น จึงไม่ต่างอะไรกับการขี่ช้างจับตั๊กแตนเลย
¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬¬____________
การดำเนินนโยบายการบริหารราคาและกำลังการผลิตน้ำมันของประเทศอย่างเหมาะสม เป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าการกดราคาน้ำมันเพียงอย่างเดียว
.
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือประเทศเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นประเทศที่มีน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลกถึง 299,953,000,000 บาร์เรล ซึ่งมากกว่ามาเลเซียถึง 83 เท่า แต่เนื่องด้วยรัฐบาลเวเนซุเอลาเลือกที่จะผูกขาดการผลิตน้ำมันของประเทศเอาไว้กับรัฐวิสาหกิจเพียงรายเดียว เพื่อส่งเสริมนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาอ่อนแอ จนเป็นเหตุให้เศรษฐกิจของประเทศพังทลายลง ในเวลาต่อมา
.
ในขณะที่ประเทศไทย กลุ่มบริษัทพลังงานไทย อาทิเช่น ปตท. และบางจาก มีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาพลังงานของประเทศ มีการลงทุนในธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เช่นโรงงานไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายส่งเสริมพัฒนาพลังงานของกระทรวงพลังงาน ทำให้โครงสร้างพลังงานของประเทศไทยนั้น มีความมั่นคงแข็งแรง
.
โดยสรุปแล้ว ประเทศไทยของเรา ไม่ได้มีแหล่งน้ำมันที่มากเพียงพอต่อความต้องการของประเทศเลย การนำเข้าน้ำมัน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การที่ประเทศไทยของเรา มีกลุ่มธุรกิจพลังงานสัญชาติไทย ทำให้เรามีศักยภาพในการพัฒนาประสิทธิภาพของพลังงานได้ด้วยตัวเอง มีองค์ความรู้เป็นของตัวเอง
.
.
พวกเราทุกคนจึงควรจะเข้าใจในสภาพความเป็นจริงด้านพลังงานของประเทศ เพื่อการวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลและกลุ่มบริษัทพลังงานอย่างมีเหตุผล เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างถูกต้อง ตามระบอบประชาธิปไตย
ผู้เขียน ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อ้างอิง
[1] Worldometer, “Thailand Oil (2016)” https://www.worldometers.info/oil/thailand-oil/
[2] Worldometer, “Malaysia Oil (2016)” https://www.worldometers.info/oil/malaysia-oil/
[3] Worldometer, “Oil Reserves by Country (2016)” https://www.worldometers.info/oil/oil-reserves-by-country/
[4] The Infographics Show, 2021, “What Actually Went Wrong With Venezuela” https://www.youtube.com/watch?v=Olw5Gaugpl8&t=283s