รูปทรง & ระบบ 5 ธาตุ


แนวคิดในการออกแบบทางศาสตร์วิชา 風水 (ฮวงจุ้ย) ไม่ว่าจะเป็นระดับพื้นฐานหรือระดับสูงเพียงใด ล้วนคำนึงถึงเรื่องหลักความสัมพันธ์ระหว่างรูปทรงสัณฐานกับระบบเบญจธาตุเป็นลำดับสำคัญ เหตุเพราะรูปทรงลักษณะต่างๆสามารถถ่ายทอดสื่อความหมายได้ต่างกันตามรูปทรงนั้นๆ อาทิ เช่น รูปลักษณะทรงกลมจะสื่อแทนความหมายถึงท้องฟ้า ส่วนรูปลักษณะทรงสี่เหลี่ยมจะสื่อแทนความหมายถึงพื้นดิน แสดงถึงความรู้สึกที่นิ่ง สงบสุข ไม่ต้องการความเคลื่อนไหวที่วุ่นวาย ซึ่งหากพิจารณาบ้านอยู่อาศัยทั่วไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านชั้นเดียวหรือสองชั้นก็ตาม รูปทรงลักษณะของอาคารส่วนใหญ่ล้วนมีรูปทรงสี่เหลี่ยมซึ่งมีนัยแฝงความหมายถึงธาตุดินเกือบทั้งสิ้น
 
และด้วยเหตุผลในหลักแห่งความสัมพันธ์ระหว่างรูปทรงสัณฐานกับระบบเบญจธาตุต่างๆเหล่านี้ การออกแบบรูปทรงลักษณะอาคาร จึงควรใช้รูปทรงแบบธาตุดินเป็นเกณฑ์ในการกำหนดแบบเป็นหลักสำคัญ หรือแม้แต่ลักษณะรูปทรงของห้องนอนที่ดีก็ควรเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม ไม่ว่าจะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัสก็ได้ ที่แสดงถึงความสงบนิ่ง มั่นคง อีกทั้งงานออกแบบชิ้นงานตกแต่งทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นประตู หน้าต่าง เตียงนอน เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ ควรมีรูปทรงเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังสามารถใช้แบบรูปทรงลักษณะอื่นๆที่ชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นทรงกลม ทรงสามเหลี่ยม ฯลฯ เพื่อเป็นเพียงส่วนประกอบร่วมผสมผสานเข้าด้วยกันก็ย่อมจะกระทำได้ เพียงแต่ให้ฐานเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมเท่านั้นก็พอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์พื้นฐานที่ว่า ต้องการให้อาคารสถานที่นั้นๆออกแบบในลักษณะใด หรือเพื่อสนองความต้องการใด อาทิเช่น หากเป็นแหล่งสถานบันเทิงเริงรมย์ที่ต้องการบรรยากาศเพื่อให้ความรู้สึกที่คึกคัก เคลื่อนไหว รูปทรงที่ออกแบบก็ไม่จำเป็นต้องใช้รูปทรงสี่เหลี่ยมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่จะใช้ลักษณะรูปทรงที่เป็นลูกคลื่น ธาตุน้ำ หรือทรงกลม ธาตุทองก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของรูปแบบที่จะนำไปใช้
 
อีกหนึ่งปัจจัยในการออกแบบรูปทรงตัวบ้านและอาคาร จำเป็นจะต้องคำนึงถึงระบบเบญจธาตุทั้ง 5 เพื่อสอดรับระหว่างรูปลักษณ์กับทิศทาง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
รูปทรงธาตุดิน
มีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม เช่น ตึกแถว อาคารพาณิชย์ บ้านชั้นเดียว หรือบ้านสองชั้นทั่วๆไป
รูปทรงแบบนี้เหมาะกับทิศทางที่มาส่งเสริมตัวอาคารที่เป็นธาตุดิน ดังเช่น
ทิศใต้ ซึ่งเป็นธาตุไฟ
ทิศตะวันตกเฉียงใต้ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นธาตุดิน
ถือว่ารูปทรงอาคารธาตุดินนี้ เหมาะกับทิศทางทั้ง 3 ทิศที่กล่าวมาข้างต้นนี้ 

รูปทรงธาตุทอง
มีหลังคาเป็นลักษณะทรงกลม หรือหลังคาโค้ง มักไม่พบบ่อยนักที่จะใช้ในการออกแบบให้แก่หลังคาบ้านช่องทั่วไป บ่อยครั้งที่จะเห็นกับตัวอาคาร สถานที่หน่วยงานรัฐ หรือสถานประกอบการของเอกชนบางแห่ง โดยมีลักษณะเป็นโดมทรงกลมจัดว่าเป็นรูปทรงลักษณะธาตุทอง
รูปทรงแบบนี้จะเหมาะกับทิศทางที่มาส่งเสริมตัวบ้านที่เป็นธาตุทอง ดังเช่น
ทิศตะวันตกเฉียงใต้ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นธาตุดิน
ทิศตะวันตก และทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ที่เป็นธาตุทอง
ถือว่ารูปทรงอาคารแบบนี้ เหมาะกับทิศทางทั้ง 4 ทิศที่กล่าวมาข้างต้นนี้ 

รูปทรงธาตุน้ำ
มีหลังคาโค้งเป็นลูกคลื่นหลายๆโค้ง จัดเป็นลักษณะแบบอาคารที่เป็นธาตุน้ำ
รูปทรงแบบนี้จะเหมาะกับทิศทางที่มาส่งเสริมตัวอาคารที่เป็นธาตุน้ำ ดังเช่น
ทิศตะวันตก ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นธาตุทอง
ทิศเหนือ ที่เป็นธาตุน้ำ
ถือว่ารูปทรงอาคารแบบธาตุน้ำนี้ เหมาะกับทิศทางทั้ง 3 ทิศที่กล่าวมาข้างต้นนี้ 

รูปทรงธาตุไม้
เป็นอาคารทรงสูงตั้งแต่ 5 ชั้นขึ้นไป จัดเป็นลักษณะแบบอาคารที่เป็นธาตุไม้
รูปทรงแบบนี้จะเหมาะกับทิศทางที่มาส่งเสริมตัวบ้านที่เป็นธาตุไม้ ดังเช่น
ทิศเหนือ ซึ่งเป็นธาตุน้ำ
ทิศตะวันออก และทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นธาตุไม้
ถือว่ารูปทรงอาคารแบบธาตุไม้นี้ เหมาะกับทิศทางทั้ง 3 ทิศที่กล่าวมาข้างต้นนี้ 

รูปทรงธาตุไฟ
มีหลังคาทรงแหลม หรือทรงสามเหลี่ยม เช่น หลังคาแบบบ้านทรงไทย จัดเป็นลักษณะแบบอาคารที่เป็นธาตุไฟ
รูปทรงแบบนี้จะเหมาะกับทิศทางที่มาส่งเสริมตัวบ้านที่เป็นธาตุไฟ ดังเช่น
ทิศตะวันออก ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นธาตุไม้
ทิศใต้ ที่เป็น ธาตุไฟ
ถือว่ารูปทรงอาคารแบบธาตุไฟนี้ เหมาะกับทิศทางทั้ง 3 ทิศที่กล่าวมาข้างต้นนี้   
 
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นแบบแผนในการนำธาตุประจำทิศทางมาเสริมสร้างกระแสพลังให้เกิดแก่ลักษณะรูปทรงบ้านและอาคาร เพื่อเป็นหลักในการออกแบบลักษณะรูปทรงให้สอดรับกับตำแหน่งทิศประธานด้านหลังของตัวบ้านและตัวอาคาร

Credits : spanish.fansshare.com                                                                                                                                                                     
               renovate.in.th                                                                                                                                                                                                     
               www.rukbarn.com                                                                                                                                                                
               openbuildings.com                                                                                                                                                                     
               decor.mthai.com